วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ไม้สักทอง : ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์

ไม้สักทอง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย เป็นพันธุ์ไม้ที่ได้รับนิยมนำมาแปรรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ และเป็นวัสดุก่อสร้างอาคาร ด้วยความแข็งแรงและสีสันลวดลายที่สวยงาม ไม้สักทองจึงเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อคนไทยทั้งในแง่ของประโยชน์ใช้สอยและเพื่อปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ


การกระจายพันธุ์สักทองในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์  ไม้สักมีถิ่นกำเนิดจำกัดเฉพาะเอเชียแถบตอนใต้ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกีนี และบางส่วนของออสเตรเลีย
ปัจจุบันมีการนำไปปลูกยังส่วนต่างๆ ของโลกเพิ่มขึ้น เช่น อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้  แอฟริกากลาง และเอชียตะวันออก ไม้สักขึ้นอยู่ในป่าผลัดใบเขตร้อนที่เรียกป่าเบญจพรรณ (mixed deciduous forest) ถือเป็นพืชเอกลักษณ์ของป่าชนิดนี้ ในประเทศไทยเดิมพบว่ามีอยู่ประมาณ 30,000 ตารางกิโลเมตร กระจายในท้องที่จังหวัดต่างๆ  ได้แก่ เชียงราย เชียงใกม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดตถ์ พิษณุโลก  พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย เลย กาญจนบุรี จะเห็นว่าส่วนใหญ่พบในภาคเหนือ แต่ปัจจุบันได้มีการนำไปปลูกทั่วทุกภูมิภาคของไทย เช่นที่ ชุมพร พังงา ปัตตานี ยะลา กระบี่ สงขลา จันทบุรี ตราด แต่การเจริญเติบโตพบว่าคุณภาพของเนื้อไม้ ไม่ค่อยดีเท่าการปลูกในภาคเหนือ
ไม้สักเจริญได้ดีในสภาพพื้นที่มีความชุ่มชื้นสูง ดินลึก ดินมีสภาพเป็นกลางหรือเบสเล็กน้อย ค่า pH ที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 6.5-7.5 ปริมาณน้ำฝนที่พอเหมาะต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของไม้อยู่ระหว่าง 1,500-1,600 มิลลิเมตร / ปี และมีฤดูแล้งสลับกับฤดูฝน จึงจะทำให้เนื้อไม้มีลวดลายของวงปีชัดเจน ระดับความสูงของพื้นที่ไม่เกิน 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่เป็นที่น่าแปลกใจมากว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการพบป่าสักที่สมบูรณ์มากที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,000 เมตร ผืนป่าลุ่มน้ำปายนี้พบมีไม้สักขึ้นหนาแน่นโดยเฉลี่ย 224 ต้นต่อแฮกเตอร์ (1 แฮกเตอร์เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร) มีลูกไม้สักเฉลี่ย 178 ต้นต่อแฮกเตอร์ จัดว่าไม้สักเป็นไม้เด่น จากการสำรวจเบื้องต้นพบไม้สักขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก เส้นรอบวงกว่า 4 เมตร และมีความสูงถึง 50 เมตร ลำต้นก็ตรง กิ่งก้านน้อย เรือนยอดแคบ จัดเป็นไม้สักที่มีคุณภาพดีมาก เป็นแม่ไม้ดีเยี่ยมและมีอายุ 100-300 ปี ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า 1,000 เมตร ถึง 1,200 เมตร ยังพบไม้สักขึ้นเป็นแนวแคบๆ ซึ่งจากการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ของไทย  ไม่เคยมีรายงานว่าพบไม้สักธรรมชาติที่ระดับความสูงเช่นนี้มาก่อน เนื้อที่รวมของป่าส่วนนี้ประมาณ 70,000 ไร่
ขอบคุณที่มา : mahidol.ac.th